1/19/2008

Thai Topic : Thai Monarchy

Thai Monarchy

Paper about Thai Monarchy : The King Never Smiles


งานวิชาการ ‘ไทยศึกษา’ : นิธิ เอียวศรีวงศ์ วิจารณ์ The King Never Smiles ( ฉบับเต็ม )


เมื่อวันที่ 10 มกราคม เวลา 15.00 น. ที่ห้อง 301 คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการอิสระ ได้เสนอบทวิพากษ์หนังสือ The King Never Smiles ของ Paul Handley ในหัวข้อเรื่อง ‘Monarchy III : Critical Comments on Paul Handley's The King Never Smiles (panel discussion)’ อันเป็นส่วนหนึ่งของงานประชุมทางวิชาการไทยคดีศึกษา ครั้งที่ 10 (The 10th International Conference on Thai Studies) ซึ่งจัดโดยสถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระหว่างวันที่ 9-10 มกราคม 51

อย่างไรก็ตาม ในวันดังกล่าว อ.นิธิ ไม่ได้นำเสนอบทวิพากษ์จนจบเนื่องจากข้อจำกัดด้านเวลา ‘ประชาไท’ จึงได้ขออนุญาต อ.นิธิ นำเสนอบทวิจารณ์ฉบับเต็มจากเอกสารเพื่อเตรียมการนำเสนอ ซึ่งต้องขอขอบคุณผู้วิจารณ์และสถาบันไทยคดีศึกษาผู้จัดงานมา ณ ที่นี้


0 0 0


งานวิชาการ ‘ไทยศึกษา’ : ศ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ วิจารณ์ The King Never Smiles (ฉบับเต็ม)


1

ก่อนอื่นต้องขออภัยผู้เขียน (พอล แฮนด์ลีย์) ไว้ในที่นี้ด้วย เพราะไม่อยู่ในที่นี้ การวิจารณ์นี้อาจมาจากความเข้าใจผิดในเนื้อหาที่นำเสนอ โดยผู้เขียนไม่อาจชี้แจงได้

2


ก่อนหน้าเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 รัฐศาสตร์ไทยไม่มีอะไรจะพูดมากนักเกี่ยวกับบทบาททางการเมืองของสถาบันพระมหากษัตริย์ นอกจากเป็นที่เคารพสักการะของปวงชน ฉะนั้นจึงเป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชน ทำให้ประเทศไทยรักษาความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันไว้ได้ ท่ามกลางความแตกแยกแตกต่างนานาชนิดในประเทศไทย

อันที่จริง นับตั้งแต่ 2490 เป็นต้นมา หรือโดยเฉพาะหลัง 2500 เป็นต้นมา ได้ปรากฏบทบาททางสังคมและวัฒนธรรมของสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างเข้มข้นมากขึ้นตามลำดับอยู่แล้ว แต่รัฐศาสตร์ไทยก็ไม่ได้สนใจจะอธิบายบทบาททางการเมืองของสถาบันพระมหากษัตริย์แตกต่างไปจากที่กล่าวแล้ว (ทั้งนี้ยังไม่พูดถึงบทบาททางเศรษฐกิจขององค์กรธุรกิจที่เนื่องอยู่กับสถาบันฯ ซึ่งขยายตัวอย่างรวดเร็วมาพร้อมกัน)

การที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯทรงสามารถยุติการนองเลือดในเหตุการณ์ 14 ตุลา สร้างความอัศจรรย์ใจแก่ผู้คนนอกประเทศไทยอย่างมาก รวมทั้งนักวิชาการไทยคดีศึกษาหลายท่าน แต่รัฐศาสตร์ไทยก็ไม่มีคำอธิบายอันใดเพิ่มเติมเกี่ยวกับบทบาททางการเมืองของสถาบันพระมหากษัตริย์ ทั้งนี้อาจเป็นเพราะพระราชอำนาจที่ทรงยุติการนองเลือดนั้น ยังสามารถใช้กรอบคำอธิบายเดิมได้อยู่ กล่าวคือโดยอาศัยฐานะที่ทรงเป็นศูนย์รวมของชาติ เป็นสถาบันที่ได้รับความเคารพสักการะมาแต่อดีต เป็นเงื่อนไขที่เปิดให้ทรงสามารถยุติการนองเลือดได้ เป็นบทบาทเดิมที่มีอยู่แล้ว คือรักษาความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของชาติ ท่ามกลางความแตกแยกขัดแย้งซึ่งทำให้เกิดความรุนแรงและวิกฤตทางการเมือง

สิ่งที่น่าประหลาดก็คือ รัฐศาสตร์ไทยยอมรับมานานแล้วว่า หลัง 2475 มาจนถึง 2590 เป็นอย่างน้อย สถาบันพระมหากษัตริย์ไทยมีสถานะตกต่ำลงอย่างมาก ทั้งเพราะความพยายามของคณะราษฎรหรือบางคนในคณะราษฎรที่จะจำกัดบทบาทของสถาบันฯลง และเพราะพระมหากษัตริย์ทั้งสองรัชกาลยังทรงพระเยาว์อยู่ ฉะนั้นการกลับมามีความสำคัญถึงสามารถยุติการนองเลือดใน พ.ศ.2516 ได้ จึงต้องมาจากความเปลี่ยนแปลงบางอย่างของสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วย ไม่ใช่การสืบเนื่องตามปรกติแน่ แต่ก็ไม่มีความพยายามจะอธิบายกระบวนการกลับฟื้นคืนความสำคัญของสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างเป็นระบบในทางวิชาการ หากมีการกระทำเช่นนั้น ก็จะทำให้เห็นพลวัตของสถาบันฯซึ่งจะช่วยทบทวนกรอบคำอธิบายบทบาททางการเมืองของสถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่งใช้กันอยู่ได้

อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่เหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 เป็นต้นมา กรอบคำอธิบายที่เคยใช้มาแต่เดิมดูเหมือนไม่สามารถอธิบายบทบาททางการเมืองของสถาบันฯได้ง่ายอีกแล้ว พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ไม่สามารถเอาข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นยัดลงไปในทฤษฎีหรือกรอบคำอธิบายที่ใช้กันมาแต่เดิมได้ (แม้แต่เฉพาะข้อเท็จจริงที่ปรากฏแก่สาธารณชน ไม่นับข้อเท็จจริงที่ไม่รู้กันแพร่หลาย) ยกเว้นแต่ไม่พูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์เลย หรือแยกข้อเท็จจริงออกจากตัวทฤษฎีหรือกรอบคำอธิบาย กลายเป็นสองอย่างที่ไม่เกี่ยวกัน

ควรกล่าวด้วยว่า ในระยะเวลาหลัง 6 ตุลา 2519 เป็นต้นมา มีงานบทความวิชาการของนักรัฐศาสตร์ทั้งไทยและเทศอยู่บ้าง (ส่วนใหญ่เทศ เพราะบรรยากาศของเสรีภาพทางวิชาการไม่เปิดกว้างในประเทศไทย) ที่จะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม ตั้งคำถามกรอบคำอธิบายเดิมเกี่ยวกับบทบาททางการเมืองของสถาบันพระมหากษัตริย์ เช่นการวิเคราะห์ปัจจัยทางสังคม, เศรษฐกิจ, การเมือง ซึ่งนำมาสู่เหตุการณ์ 6 ตุลา แม้ไม่ได้วิพากษ์กรอบคำอธิบายโดยตรง แต่โดยนัยะก็ทำให้เห็นว่าไม่สามารถใช้เพื่อเข้าใจบทบาททางการเมืองของสถาบันพระมหากษัตริย์ได้อย่างแน่นอน ในที่นี้ขอยกตัวอย่างเพียงบทความเดียวคือ "บ้านเมืองของเราลงแดง : แง่มุมทางสังคมและวัฒนธรรมของรัฐประหาร 6 ตุลาคม" ของศาสตราจารย์เบเนดิค แอนเดอร์สัน

อย่างไรก็ตาม งานศึกษาบทบาททางการเมืองของสถาบันพระมหากษัตริย์ที่เป็นภาพรวม เพิ่งปรากฏในระยะประมาณ 5 ปีมานี้เอง และในบรรดางานทั้งหมด งานของคุณพอล แฮนด์ลีย์ เป็นงานศึกษาที่เจาะลึกประเด็นนี้อย่างละเอียดที่สุด พร้อมกับเสนอกรอบคำอธิบายใหม่ ซึ่งจะสามารถช่วยให้เกิดความเข้าใจการเมืองไทยได้ดีขึ้นหรือไม่ เพียงพอหรือไม่ เป็นปัญหาทางวิชาการที่ต้องรอการพิสูจน์จากงานวิชาการรัฐศาสตร์เรื่องอื่นๆ ของนักวิชาการอื่นๆ

ในส่วนนักไทยคดีศึกษาในประเทศไทย ผมคิดว่านี่เป็นหนังสือที่ขาดไม่ได้ และอาจหาอ่านได้ไม่ยากนัก ทั้งในภาษาอังกฤษและไทย แม้ว่าหนังสือเล่มนี้จะถูกเจ้าพนักงานการพิมพ์ห้ามจำหน่ายจ่ายแจกตั้งแต่หนังสือยังไม่ได้วางตลาดก็ตาม

ผมควรกล่าวด้วยว่า นอกจากงานด้านบทบาททางการเมืองของสถาบันฯโดยตรงแล้ว ในระยะประมาณ 5 ปีที่ผ่านมา ก็มีงานศึกษาอื่นๆ เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ปรากฏขึ้นในวงวิชาการเหมือนกัน เช่นการศึกษาโครงการพระราชดำริ, การยึดกุมพื้นที่ในสื่อ, บทบาทของสำนักงานทรัพย์สินในเชิงธุรกิจ, วิเคราะห์พระราชดำรัสและพระบรมราโชวาท-พระราชนิพนธ์ เป็นต้น งานของคุณแฮนด์ลีย์ โดยเฉพาะกรอบคำอธิบายใหม่ที่คุณแฮนด์ลีย์เสนอนั้น สามารถครอบคลุมความรู้ใหม่ๆ เหล่านี้ซึ่งเกิดจากการศึกษาประเด็นที่อาจไม่เกี่ยวโดยตรงกับสถาบันฯกับการเมือง

ในช่วงปัจจุบัน ภาระทางวิชาการของนักไทยคดีศึกษาคือการวิพากษ์วิจารณ์ผลงานของคุณพอล แฮนด์ลีย์ เพื่อประเมินจุดอ่อนจุดแข็งทางวิชาการ โดยส่วนตัว ผมคิดว่าการวิพากษ์วิจารณ์ข้อเท็จจริง เรื่องใดถูก เรื่องใดผิด ก็มีความสำคัญ แต่ยังไม่สำคัญเท่ากับการวิพากษ์วิจารณ์กรอบคำอธิบายใหม่เกี่ยวกับบทบาททางการเมืองของสถาบันพระมหากษัตริย์ หยั่งดูว่ากรอบคำอธิบายใหม่นี้ สามารถส่องสว่างไปยังมิติอื่นๆ ในการเมืองไทยได้มากน้อยเพียงไร และราบรื่นไม่สะดุดหรือไม่อย่างไร กล่าวโดยสรุปก็คือ กรอบคำอธิบายนี้มีอำนาจอธิบายได้มากน้อยเพียงใด และผมจะขอทำเฉพาะส่วนนี้เท่าที่มีความสามารถทำได้


3

และในส่วนนี้ ผมเห็นว่างานของคุณพอล แฮนด์ลีย์มีคุณค่ามหาศาลต่อการศึกษาการเมืองไทย เพราะเป็นการท้าทายกรอบคำอธิบายเดิมซึ่งใช้กันมานาน ทั้งๆ ที่ข้อเท็จจริงซึ่งปรากฏขึ้นไม่อาจบรรจุลงในกรอบคำอธิบายนั้นได้อีกต่อไป นอกจากนี้ หากดูถึงผลงานศึกษามิติด้านต่างๆ ของสถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่งมีนักวิชาการศึกษามากขึ้นในระยะหลัง ย่อมเป็นธรรมดาที่จะเกิดข้อมูลข้อเท็จจริงอื่นๆ มากขึ้นกว่าที่มีอยู่ในปัจจุบัน แน่นอนว่าย่อมทำให้กรอบคำอธิบายเดิมซึ่งใช้กันมานานนั้นยิ่งไม่ทำงาน หรือไม่อาจอธิบายอะไรได้มากขึ้นไปอีก ฉะนั้นไม่ว่าเราจะเห็นด้วยหรือไม่กับกรอบคำอธิบายที่คุณแฮนด์ลีย์เสนอ ก็เป็นภาระหน้าที่ของเราในการสรรหาและสรรค์สร้างกรอบทฤษฎีใหม่ เกี่ยวกับบทบาททางการเมืองของสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยอยู่นั่นเอง


4

ในส่วนการสร้างกรอบคำอธิบายใหม่เกี่ยวกับบทบาททางการเมืองของสถาบันพระมหากษัตริย์นั้น ผมคิดว่ามีงานอยู่อย่างน้อยสองชิ้นที่ควรกล่าวถึงเพื่อเปรียบเทียบกับงานของคุณพอล แฮนด์ลีย์

งานชิ้นแรกเป็นของท่านอาจารย์นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ เรื่องพระผู้ทรงปกเกล้าฯ ประชาธิปไตย ดูประหนึ่งว่างานชิ้นนี้เขียนขึ้นเพื่อตอบโต้งานของคุณแฮนด์ลีย์โดยตรง

ในคำนำ ท่านอาจารย์นครินทร์ได้กล่าวสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง และเป็นการชี้จุดอ่อนในงานของคุณแฮนด์ลีย์ได้อย่างดีเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ว่า “... และพระองค์ไม่ได้ทรงมีความสามารถและไม่ได้ทรงอยู่ในฐานะที่ทำให้ประชาธิปไตยของไทยมีความรุ่งเรืองและยิ่งใหญ่ไปได้ตลอด หรือในทางกลับกัน พระองค์ก็ทรงไม่สามารถที่จะทำให้ระบอบประชาธิปไตยของไทยตกต่ำถึงขีดสุดด้วยพระองค์เองตามลำพัง ซึ่งการพิจารณาอย่างสุดโต่งในทางหนึ่งทางใด ล้วนไม่มีความสอดคล้องกับการศึกษาระบอบประชาธิปไตย ทั้งที่ได้มีวิวัฒนาการอยู่ในประเทศต่างๆ และวิวัฒนาการในประเทศไทยด้วยในตลอดระยะเวลา...”

แต่น่าเสียดายที่ว่า ในชิ้นงานของหนังสือทั้งเล่ม เกือบไม่ได้ใช้เนื้อที่ในการวิเคราะห์ศักยภาพและข้อจำกัดของสถาบันพระมหากษัตริย์ในแง่ส่งเสริมหรือขัดขวางประชาธิปไตยแต่อย่างใด เช่น หากทรงส่งเสริมระบอบประชาธิปไตย สถาบันฯได้ใช้พลังอะไรส่วนไหนของสถาบันฯ และอย่างไร ในการผลักดันให้ประชาธิปไตยดำเนินไปได้ ท่ามกลางกระแสที่ขัดขวางประชาธิปไตยจากกลุ่มพลังต่างๆ อะไรคือข้อจำกัดที่ทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ไม่อาจทำได้มากกว่านั้น หรือในทางอื่นๆ นอกจากทางที่ได้ทำไปแล้วนั้น

เนื้อหาทั้งหมดคือบทบาททางการเมืองของกลุ่มพลังต่างๆ ซึ่งอาจมีความสัมพันธ์ที่ราบรื่นกับสถาบันฯบ้าง ไม่ราบรื่นบ้าง กลุ่มพลังเหล่านี้มีปฏิสัมพันธ์กันในทางการเมืองอย่างเข้มข้น โดยสถาบันพระมหากษัตริย์ตั้งอยู่ห่างๆ ยกเว้นแต่เมื่อเกิดวิกฤตทางการเมืองครั้งใด พระมหากษัตริย์ก็จะทรงเข้ามาแก้ไข เพื่อให้อย่างน้อยรูปแบบของประชาธิปไตยสามารถดำเนินต่อไปได้

พระราชกรณียกิจทั้งหมด จึงไม่เคยถูกพิจารณาในฐานะ "การกระทำทางการเมือง" ไม่ว่าการเสด็จเยือนประชาชน, โครงการพระราชดำริ, หรือพระราชดำรัสและพระบรมราโชวาทในโอกาสต่างๆ เพราะสถาบันพระมหากษัตริย์ถูกพิจารณาว่าเป็นสถาบันที่ "ไม่การเมือง" ฉะนั้นที่เรียกว่าวิกฤตการเมืองครั้งต่างๆ จึงเป็นวิกฤตที่เกิดขึ้นจากกลุ่มพลังต่างๆ ที่ไม่อาจจัดความสัมพันธ์ให้ลงตัวได้เอง สถาบันพระมหากษัตริย์ไม่มีส่วนในพัฒนาการของวิกฤตนั้นๆ ยกเว้นแต่ระงับความขัดแย้งที่รุนแรงเกินไป

ข้อความในคำนำทำให้เราคิดว่า กรอบคำอธิบายใหม่ที่ท่านอาจารย์นครินทร์จะเสนอก็คือ สถาบันพระมหากษัตริย์ในฐานะที่เป็นปัจจัยสำคัญอันหนึ่งในการเมืองไทย มีปฏิสัมพันธ์กับปัจจัยสำคัญทางการเมืองอื่นๆ อย่างไร มีทั้งความสำเร็จและความล้มเหลวท่ามกลางเงื่อนไขนานาชนิดที่ไม่ได้อยู่ในความควบคุมของสถาบันฯทั้งหมด แต่เนื้อหาของหนังสือไม่ได้เกี่ยวอะไรกับที่พึงคาดหวังเลย สถาบันพระมหากษัตริย์ก็ยังคงเป็นสถาบัน "ไม่การเมือง" ที่ลอยอยู่พ้นออกไปจากฉากการเมืองไทย เสด็จลงมาเพียงครั้งคราวในยามจำเป็นที่บ้านเมืองตกอยู่ในวิกฤตเท่านั้น กรอบคำอธิบายเช่นนี้ไม่ต่างอะไรจากที่พบได้ในงานรัฐศาสตร์ไทยทั่วไปก่อน 6 ตุลา 2519


5

กรอบคำอธิบายอีกอันหนึ่งที่ผมคิดว่าน่าสนใจมาก เป็นของท่านอาจารย์ดันแคน แมคคาร์โก นั่นก็คือจะเข้าใจบทบาททางการเมืองของสถาบันพระมหากษัตริย์ได้ ต้องมองสถาบันฯเป็นเครือข่ายของความสัมพันธ์กับส่วนต่างๆ ในสังคม ไม่ใช่มองจากตัวบุคคลคือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เพียงจุดเดียว ในฐานะที่เป็นเครือข่ายย่อมมีทั้งศักยภาพและข้อจำกัดทางการเมืองหลากหลายประการ แม้กระนั้นก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า เครือข่ายนี้มีบทบาทสำคัญยิ่งในการเมืองไทย โดยเฉพาะในเวลากว่าครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา

โดยส่วนตัว ผมออกจะเห็นว่า กรอบคำอธิบายนี้มีจุดอ่อนน้อยกว่ากรอบคำอธิบายของคุณแฮนด์ลีย์ อย่างไรก็ตาม เพื่อความเป็นธรรม ควรกล่าวด้วยว่า คุณแฮนด์ลีย์เองก็คำนึงถึงเครือข่ายของสถาบันฯอย่างมากเช่นกัน และใช้เนื้อที่จำนวนมากเพื่อบรรยายถึงการสร้างเครือข่ายดังกล่าว เพียงแต่ว่าคุณแฮนด์ลีย์เน้นการกระทำหรือไม่กระทำของศูนย์กลางของเครือข่าย คือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯและกลุ่มเจ้านาย+ข้าราชการจารีตนิยมเป็นผู้กระทำแต่ฝ่ายเดียว จนทำให้ดูเหมือนคนในศูนย์กลางเป็นผู้กดปุ่มให้สิ่งต่างๆ เคลื่อนที่ได้ตามต้องการและตามใจชอบแต่ฝ่ายเดียว

อันที่จริง เวลาเราพูดถึงเครือข่าย เรากำลังพูดถึงความสัมพันธ์สองทางเสมอ ต่างฝ่ายต่างมุ่งหวังจากอีกฝ่ายหนึ่ง เราจึงไม่อาจพูดถึงเครือข่ายจากฝ่ายเดียวได้ ต้องมองกลับไปอีกฝ่ายหนึ่งด้วยว่า การร่วมอยู่ในเครือข่ายนั้นๆ สอดคล้องกับอำนาจ, ผลประโยชน์, เกียรติยศ, ฯลฯ อะไรของตัวบ้าง ดังเช่นความสัมพันธ์ระหว่างคนชั้นกลางกับสถาบันพระมหากษัตริย์ นักวิชาการบางท่าน เช่น ท่านอาจารย์คริส เบเคอร์ กลับเห็นว่า บทบาทและมโนภาพว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ในฐานะผู้ปกป้องสนับสนุนประชาธิปไตย เป็นบทบาทและมโนภาพที่คนชั้นกลางไทยสร้างขึ้นเอง (เพื่อเสริมพลังทางการเมืองของตนในการคานอำนาจกับกลุ่มพลังอื่นที่เป็นปฏิปักษ์กับประชาธิปไตย หรือรูปแบบของประชาธิปไตย) กรอบคำอธิบายนี้น่าสนใจมาก และน่าจะทดลองใช้เพื่อศึกษาปรากฏการณ์จริงเป็นอย่างยิ่งว่ามีอำนาจอธิบายการเมืองได้มากน้อยเพียงไร อย่างไรก็ตาม กรอบคำอธิบายของอาจารย์เบเคอร์ทำให้ผมอดคิดไม่ได้ถึงคนชั้นกลางระดับปัญญาชนท่านหนึ่ง ที่ร่วมเรียกร้องนายกฯ พระราชทานก่อนการรัฐประหาร ท่านยอมรับอย่างเปิดเผยว่า การที่ท่านเข้าร่วมเคลื่อนไหวกับกลุ่มที่ประกาศตนเองเป็นราชนิกุลนั้น ก็เพราะท่านนึกถึงตัวเองเหมือนเวียดกง ย่อมคว้าอาวุธทุกอย่างที่ใกล้มือ เพื่อทำร้ายศัตรูของชาติ

งานของคุณแฮนด์ลีย์ไม่ให้เนื้อที่ในการพูดถึงความซับซ้อนของเครือข่ายเลย ทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์หลุดลอยไปจากสังคม กลายเป็นธรรมะ-เทวราชาไปจริงๆ เพราะเป็นฝ่ายผู้กระทำแต่ฝ่ายเดียว จึงยิ่งทำให้จุดอ่อนของงานเห็นได้ชัดมากขึ้น และในทัศนะของผม นี่เป็นจุดอ่อนมากที่สุดของกรอบคำอธิบายใหม่ที่คุณแฮนด์ลีย์เสนอ

ในทางตรงกันข้าม ผมควรกล่าวด้วยว่า การพิจารณาสถาบันพระมหากษัตริย์จากเครือข่ายความสัมพันธ์ อาจนำเราไปสู่ข้อสรุปที่เห็นว่า สถาบันพระมหากษัตริย์อ่อนแอเกินกว่าจะมีบทบาททางการเมืองที่มีนัยะสำคัญใดๆ ได้ เช่น สฤษฎิ์ ธนะรัชต์ เป็นฝ่ายใช้ประโยชน์จากสถาบันฯ ไม่ใช่สถาบันฯใช้ประโยชน์จากสฤษฎิ์, ในขณะที่สถาบันฯเองไม่มีทางเลือกอื่นหลัง 2475 มากไปกว่า สร้างพันธะกับระบอบรัฐธรรมนูญ ดังความเห็นของท่านอาจารย์ใจ อึ๊งภากรณ์ (หากผมเข้าใจบทวิจารณ์ของท่านถูกต้อง) ผมเห็นว่านี่ก็เป็นจุดอ่อนในทางตรงข้าม แต่ทำนองเดียวกันกับกรอบคำอธิบายของคุณแฮนด์ลีย์ คือสถาบันฯกลายเป็นเหยื่อที่แทบจะไม่อาจส่งผลกระทบอะไรต่อการเมืองได้เลย


6

ในท้ายที่สุดจากการอ่านงานของคุณแฮนด์ลีย์ และคำอภิปรายโต้แย้งทางวิชาการของบุคคลต่างๆ ทำให้ผมเกิดความคิดขึ้นสองประการที่ใคร่เสนอไว้ในที่นี้

ประการแรก คือเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างคนชั้นกลางกับสถาบันพระมหากษัตริย์ อาจเป็นได้ว่าบทบาททางการเมืองโดยเฉพาะมโนภาพเกี่ยวกับสถาบันฯที่เรารู้จักในปัจจุบันนั้น คนชั้นกลางเองมีส่วนสร้างขึ้นอยู่ไม่น้อย แต่ปัญหาก็คือประเทศไทยกำลังเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว และกลุ่มคนที่เผชิญกับความเปลี่ยนแปลงอย่างมากที่สุดคือคนชั้นกลาง (รวมทั้งทุนใหญ่ๆ ทั้งหลายซึ่งน่าจะทำงานในลักษณะทุนนิยมเข้มข้นขึ้น) คนชั้นกลางและทุนจะพอใจกับบทบาทและมโนภาพของสถาบันฯดังที่เป็นอยู่ปัจจุบันต่อไปหรือไม่ หรือจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนบทบาทและมโนภาพนั้นในภายหน้าเพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลง ในขณะเดียวกัน คนชั้นกลางกับทุนขนาดใหญ่ก็มีทีท่าจะแยกออกจากกันมากขึ้น บทบาทและมโนภาพของสถาบันพระมหากษัตริย์ต้องทำหน้าที่เชื่อมโยงรอยร้าวนี้มิให้ถึงกับแตกปริ มิฉะนั้นก็จะกลายเป็นความจงรักภักดีสองรูปแบบที่ไม่อาจยอมรับกันและกันได้

เราไม่ควรลืมด้วยว่า กลุ่มคนที่วิพากษ์วิจารณ์สถาบันฯมากที่สุดในปัจจุบันก็ล้วนเป็นคนชั้นกลางทั้งสิ้น นี่เป็นสัญญาณให้เห็นความพยายามจะปรับเปลี่ยนบทบาทและมโนภาพของสถาบันฯที่ตัวสร้างขึ้นหรือไม่ใช่ หากใช่ สถาบันฯเองพร้อมจะปรับเปลี่ยนไปสู่บทบาทและมโนภาพใหม่หรือไม่ ถ้าไม่ กลุ่มคนชั้นกลางและกลุ่มทุนจะยังเป็นเครือข่ายของราชสำนักต่อไปหรือไม่

ประการที่สอง งานศึกษาที่ยืนอยู่คนละข้างระหว่างงานของคุณแฮนด์ลีย์ และงานของท่านอาจารย์นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ มีความเห็นสอดคล้องกันอยู่อย่างหนึ่งก็คือ พระราชกรณียกิจทางการเมืองทั้งหมดที่เกิดขึ้นในรัชกาลปัจจุบัน เป็นของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ไม่ใช่ของสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย หากใช้คำของท่านอาจารย์นครินทร์ก็คือ "กล่าวได้ว่า 'พระราชอำนาจนำ' ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นลักษณะเฉพาะ ไม่ผูกติดกับสถาบันพระมหากษัตริย์"

อันที่จริงการใช้คำว่าสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างที่ผมใช้ตลอดมานี้ ต้องถือว่าผิดหมดเมื่อพิจารณาจากหนังสือทั้งสองเล่มนี้ คุณแฮนด์ลีย์ออกพระนามาภิไธยโดยตรงเกือบตลอดเล่มเลยด้วยซ้ำ

ข้อนี้ ใครๆ คงเห็นพ้องด้วยกับนักวิชาการทั้งสองท่าน กล่าวโดยสรุปก็คือพระบารมีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลปัจจุบันไม่ได้ถูกทำให้เป็นสถาบัน ยังคงเป็น charisma หรือบารมีส่วนพระองค์ และด้วยเหตุดังนั้นจึงสืบทอดไม่ได้

ย้อนกลับไปยังข้อคิดประการแรกว่า สังคมไทยกำลังเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว หากสถาบันพระมหากษัตริย์พร้อมจะปรับเปลี่ยนไปตามความเปลี่ยนแปลง คำถามก็คือสถาบันจะยังมีพลังสำหรับการปรับเปลี่ยนมากน้อยเพียงใด


Source : Prachatai,January 17,2008

No comments: