วันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11489 มติชนรายวัน
คนเล็กจ่ายก่อน
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ข่าวสับสนของ 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมาก็คือ ประชาชนในภาคใต้จำนวนหนึ่งถูกสั่งให้เสียเงินค่าโลกร้อน เพราะไปตัดต้นยางเก่าในพื้นที่ซึ่งพวกเขาอ้างว่าทำกินกันมาตั้งแต่ปู่ย่าตายาย แม้สมมุติว่า พื้นที่สวนยางดังกล่าวถูกประกาศเป็นเขตวนอุทยานฯทับลงไปแล้ว ค่าปรับก็ยังเป็นค่าปรับที่ทำให้โลกร้อน (ด้วย) ไม่ใช่เพราะบุกรุกเขตวนอุทยานฯอยู่ดี
ฉะนั้น จึงน่าตกใจแก่ชาวบ้านร้านตลาดพอสมควร เพราะไม่รู้ว่าสิทธิการตัดต้นไม้ในบ้านเรือนไร่นาของตนเองได้หมดไปตั้งแต่เมื่อไร ทางกรมอุทยานฯก็ออกมาปฏิเสธว่า เรื่องนี้ไม่เคยเกิดขึ้นจริง เพราะกรมไม่เคยมีคดีกับชาวบ้านเรื่องนี้ แม้ชาวบ้านจะยืนยันว่าคำสั่งที่ตัวได้รับนั้นเป็นคำสั่งศาล
สื่อไม่ได้ลงไปเจาะให้เจอตัวคำสั่งศาล หรือเจอความเข้าใจผิดของชาวบ้าน แต่สื่อกลับตอบโต้ด้วยการนำเอา พ.ร.บ.ซึ่งออกมาตั้งแต่ 2535 มีมาตราค่าปรับเรื่องการกระทำที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนมายืนยัน ทางกรมอุทยานฯก็ยังยืนยันว่าไม่มีสูตรคิดค่าเสียหายจากชาวบ้านที่ตัดไม้ทำลายป่า ในที่สุดมติชนไปได้เอกสารของกรมอุทยานฯ มีเลขที่และวันที่ชัดเจน ส่งถึงสำนักงานอัยการจังหวัดพัทลุง เพื่อแจกแจงค่าเสียหายที่เกิดจากการบุกรุกทำลายป่าแห่งหนึ่ง และในนั้นมีรายการค่าปรับที่ "ทำให้อากาศร้อนมากขึ้น" เป็นเงินสี่หมื่นกว่าบาทต่อไร่ต่อปี
กรมอุทยานฯอ้างว่า คงเป็นเรื่องที่ผู้เกี่ยวข้องโยงข้อความใน พ.ร.บ.มาใช้ โดยทางกรมไม่เคยมีสูตรคิดเลย พูดอีกอย่างหนึ่งคือเป็นความขยันไม่เข้าเรื่องของข้าราชการระดับล่างโน่น - และผมไม่ทราบว่าใครเป็นคนลงนามในหนังสือของกรมที่มีไปยังสำนักงานอัยการใน พ.ศ.2548
ยังมีความสับสนอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งอาจเกิดมาจากตัวกฎหมายส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม หรืออาจเกิดจากความสับสนของเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติตามกฎหมาย
ภาวะโลกร้อนเป็นภัยคุกคามที่ใหญ่มากในปัจจุบัน ทุกประเทศต้องช่วยกันอย่างเต็มที่ในการลดเงื่อนไขที่ทำให้โลกร้อน ประชาชนในแต่ละประเทศก็มีภาระอย่างเดียวกัน ไม่ว่าจะมีสนธิสัญญาระหว่างประเทศเกี่ยวกับเรื่องนี้หรือไม่ และไม่ว่าจะเอาคาร์บอนเครดิตไปขายได้หรือไม่
อย่างไรก็ตาม กิจกรรมของมนุษย์ ทั้งที่เป็นไปโดยธรรมชาติ และที่ทำขึ้นเพื่อดำรงชีวิต ย่อมต้องปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นธรรมดา ปัญหาคือจะแบ่งความรับผิดชอบของผู้กระทำอย่างไร
ในส่วนกิจกรรมที่เป็นไปตามธรรมชาติ (ตั้งแต่ตดไปจนถึงอาบน้ำและกิน) กิจกรรมใดที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็ต้องปล่อยให้ทำเป็นปกติ แต่ส่วนที่เลี่ยงได้ หากอยากจะบริโภคอุปโภคให้ได้ ก็ต้องรับภาระเพิ่มขึ้น เช่นกระบวนการผลิตเนื้อวัวก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกมาก ผู้บริโภคก็ต้องแบกรับราคาที่สูงกว่าโปรตีนจากเนื้อสัตว์ประเภทอื่นเช่นปลาตามธรรมชาติ
ในส่วนกิจกรรมอื่นที่นอกเหนือธรรมชาติ (เช่นตัดต้นยางเก่าออก) หลักการพิจารณาก็คือ มีทางเลือกอื่นที่เป็นไปได้ในเงื่อนไขที่เป็นธรรม อันจะก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกน้อยลงหรือไม่ หากไม่มี เช่นกรณีชาวบ้านที่ทำสวนยาง ถึงอย่างไรก็ต้องโค่นต้นยางเก่าทิ้ง และในเงื่อนไขทางเศรษฐกิจของชาวบ้าน ย่อมไม่มีเทคโนโลยีให้เลือกมากไปกว่าเลื่อย
ในกรณีเช่นนี้ หลักปฏิบัติที่เขาใช้กันทั่วไปก็คือ กระจายความรับผิดชอบไปให้แก่ทุกฝ่าย เช่นเอาค่าปรับโลกร้อนไปฝากไว้ในภาษีการซื้อ-ขายยางพารา จะฝากไว้ที่ระดับน้ำยาง หรือระดับผลิตภัณฑ์เช่นยางรถยนต์ก็ตาม แต่ผู้บริโภคต้องจ่าย โดยไม่เอาค่าปรับไปกระจุกไว้ที่ปัจเจกบุคคลที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก แล้วปล่อยให้ผู้บริโภคซึ่งเป็นต้นเหตุสำคัญของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมนั้นลอยนวลไป
และในทำนองเดียวกัน หากสังคมยอมให้ผลิตไฟฟ้าด้วยถ่านหินซึ่งปล่อยก๊าซเรือนกระจก (และก๊าซพิษอื่นๆ ด้วย) มากกว่าพลังงานอื่น โรงไฟฟ้าประเภทนั้นก็ต้องจ่ายภาษีโลกร้อนเพิ่มเข้ามา แต่โรงงานนั้นก็ไม่เดือดร้อนนัก เพราะสามารถกระจายภาระภาษีไปให้แก่ผู้บริโภคได้ ถึงตอนนั้นผู้บริโภคจะหลับหูหลับตาอนุมัติให้สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินต่อไป ขอเพียงให้พ้นบ้านตัวเองเท่านั้น ก็ตามใจ เพราะทุกโรงไฟฟ้าถ่านหิน ค่าไฟฟ้าไม่ได้ถูกลง แต่กลับแพงขึ้น
ในทางตรงกันข้าม หากมีกระบวนการผลิตให้เลือกและในเงื่อนไขที่เป็นไปได้ ผู้ผลิตยังเลือกที่จะปล่อยก๊าซเรือนกระจกจำนวนมาก เช่น โรงงานอุตสาหกรรมทั้งหลายที่ไม่ยอมบำบัดน้ำเสีย ก็ควรต้องรับผิดชอบกับค่าปรับโลกร้อนเองโดยตรง
แต่น่าประหลาดที่ในเมืองไทย หลักปฏิบัติที่เขาใช้กันทั่วไปสำหรับจัดการกับการ "ละเมิด" ต่อสังคม กลับมักเป็นตรงข้าม กล่าวคือผลักภาระการ "ละเมิด" นั้นไปให้คนเล็กสุดรับเอาไว้ แล้วปกป้องผู้บริโภคกับนายทุนให้พ้นจากความรับผิดชอบเสีย หากผู้บริโภคไม่ต้องรับผิดชอบ การบริโภคก็ยังดำเนินต่อไปโดยไม่สะดุด และนายทุนก็สามารถทำกำไรได้โดยไม่สะดุดเช่นกัน
ภาษีสิ่งแวดล้อมหรือภาษีโลกร้อนจึงไม่มีใช้ในเมืองไทย และตราบเท่าที่ไม่ยอมรับหลักการดังกล่าวข้างต้น หากขืนมีใช้ให้ได้ ก็น่ากลัวว่าจะกลายเป็นภาระอันหนักของคนตัวเล็กๆ... อย่างถูกต้องตามกฎหมายเสียด้วย
ในรอบ 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมาเช่นกัน ยังมีข่าวชวนสับสนอีกเรื่องหนึ่งคือ เมื่อมีเหตุขัดข้องทางเทคนิคกับระบบส่งก๊าซธรรมชาติ ทั้งจากอ่าวไทยและพม่าพร้อมกัน กำลังการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ.ก็ลดลงอย่างฮวบฮาบ จำเป็นต้องหาทางผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างรีบด่วน
กฟผ.เหลือทางเลือกอยู่เพียงสองอย่าง คือผลิตไฟฟ้าจากกำลังน้ำที่เขื่อนศรีนครินทร์ กาญจนบุรี เวลาที่กะทันหันเช่นนั้นย่อมเตือนภัยประชาชนที่อยู่อาศัยริมน้ำใต้เขื่อนไม่ทันเป็นธรรมดา หรือสอง ผลิตไฟฟ้าจากน้ำมัน ซึ่งแน่นอนว่าต้องมีต้นทุนสูงกว่าพลังน้ำมาก
กฟผ.เลือกการผลิตไฟฟ้าฉุกเฉินด้วยพลังน้ำ และเกิดความเสียหายหลายประการแก่ประชาชนท้ายเขื่อน เพราะน้ำขึ้นอย่างรวดเร็วจนเก็บข้าวของไม่ทัน
เหตุใด กฟผ.จึงใช้ทางเลือกนี้ คำตอบที่เห็นได้ชัดก็คือ เพราะต้นทุนจะต่ำสุด แต่ที่ต้นทุนต่ำได้นั้นก็เพราะประชาชนท้ายเขื่อนเป็นผู้แบกรับต้นทุนส่วนใหญ่เอาไว้ หมายความว่าบ้านเรือนที่ใช้ไฟฟ้าในช่วงนั้น รวมทั้งโรงงานอุตสาหกรรมซึ่งไม่ต้องหยุดเครื่องระหว่างนั้น อันเป็นความเสียหายมีมูลค่าสูงมาก ได้ใช้ไฟฟ้าในราคาเดิม บนความเสียหายของทรัพย์สินชาวบ้านท้ายเขื่อนศรีนครินทร์
ก็เรื่องเดิมอีกเช่นเคย คนเล็กๆ คือผู้แบกรับภาระรับผิดชอบก่อนเสมอ
เวลานี้ ชาวบ้านท้ายเขื่อนกำลังเรียกร้องค่าเสียหาย เฉพาะวันแรกวันเดียวที่เปิดให้แจ้ง ก็รวมมูลค่าความเสียหายไปแล้วถึง 50 ล้านบาท แพงกว่าที่จะใช้น้ำมันแก้ปัญหาฉุกเฉินอย่างเทียบกันไม่ได้
แต่ กฟผ.ตั้งอยู่ในประเทศไทยมานาน ย่อมรู้ดีว่า ในที่สุด กฟผ.ก็ไม่ต้องจ่าย หรือจ่ายเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เพราะนโยบายหลักของประเทศไทยก็คือ คนเล็กๆ รับภาระรับผิดชอบค่าใช้จ่ายของภาวะฉุกเฉินก่อนเสมอ ขณะนี้ กฟผ.กำลังมองหากฎหมายว่าจะจ่ายค่าเสียหายนี้ได้อย่างไร และพบว่าไม่มีกฎหมาย ฉะนั้นต้องเสนอให้ร่างกฎหมายขึ้นมาเพื่อการนี้ในภายหน้า
ตอนนี้ยังจ่ายไม่ได้ และการตัดสินใจของ กฟผ.ที่จะแก้ปัญหาไฟฟ้าขาดฉุกเฉินอย่างที่ได้ตัดสินใจไปแล้วนั้น ก็ถูกต้องอยู่แล้ว
ปรากฏการณ์พิลึกพิลั่นเหล่านี้ เป็นเพียงผิวนอกที่เรามองเห็นได้จากความไม่เป็นธรรมเชิงโครงสร้าง ที่ครอบงำสังคมการเมืองไทยอย่างลึกซึ้งตลอดมา การเมืองใหม่ที่พร่ำเพ้อแต่หลักการเชิงศีลธรรมของนักการเมืองก็ตาม การเคลื่อนไหวเพื่อแสวงหาความเป็นธรรมให้พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร ก็ตาม ล้วนเป็นเรื่องขี้ปะติ๋ว เมื่อเทียบกับความไม่เป็นธรรมเชิงโครงสร้างที่เราเผชิญอยู่
การใช้ความรุนแรง (ในทุกความหมาย) เป็นเครื่องมือในความขัดแย้งก็เป็นเรื่องเศร้าอยู่แล้ว แต่มาคิดถึงความขี้ปะติ๋วของประเด็นที่ขัดแย้งกัน ยิ่งทำให้น่าเศร้าขึ้นไปอีก
ถึงจะสมานฉันท์กันได้สักวันหนึ่ง ก็คงสมานฉันท์กันในเรื่องขี้ปะติ๋วเท่านั้น
หน้า 6
(www.matichon.co.th/matichon/view_news.php?newsid=01act01240852§ionid=0130&day=2009-08-24)
----------------------------
“คนเล็กจ่ายก่อน” เป็นอย่างนี้มาตั้งนานแล้วครับ.. ถูกยัดเยียดให้จ่ายทั้งรู้ตัวและไม่รู้ตัว ความจริงแทบจะทุกเรื่องแหละครับ โดยมากถูกปิดปากไม่ให้โวยด้วย เราถูกปั่นหัวให้คุยกัน/ตั้งความหวังกับเรื่อง “คนดี” จนไม่คิดพัฒนา “ระบบ” อย่างจริงจังเสียที สังคมไทยจึงขาดวุฒิภาวะ เวียนวนแต่การทำลายล้างกัน การเมืองใหม่เนื้อแท้ก็คิดในกรอบ “คนดี” คือคำตอบสุดท้ายของสังคมการเมืองไทย ตามหาอัศวินม้าขาวกันต่อไปครับ.
No comments:
Post a Comment